วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กุลบุตร-กุลธิดา กาชาด และอาสายุวกาชาด ร่วม “กิจกรรมบรรเทาภัยหนาวเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช”


นายกีรติ ลิ่มสืบเชื้อ นางสาวธัญวรัตน์  สวัสดี กุลบุตร-กุลธิดากาชาด ประจำปี 2558 พร้อมด้วยนายภัทรภณ  สุวรรณเลิศ รองกุลบุตรกาชาด  นายเอราวัณ ทับพลี กุลบุตรดีเด่น และนายพรวิช ประเสริฐ อาสายุวกาชาดดีเด่น  ร่วม "กิจกรรมบรรเทาภัยหนาวเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช" ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด "หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ" ซึ่งสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2558 ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่  กิจกรรมประกอบด้วย การมอบเครื่องกันหนาวแก่ผู้ด้อยโอกาส จำนวน 3,500 ชุด มอบชุดกันหนาวเด็ก จำนวน 1,518 ชุด มอบอุปกรณ์กีฬาแก่นักเรียนในชนบท เครื่องทำน้ำเย็น ตู้ยา พร้อมเวชภัณฑ์สำหรับห้องพยาบาลโรงงเรียน ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาโรคทั่วไปและบริการทันตกรรม ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา และเยี่ยมบ้านประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกล จำนวน 15 ครอบครัว






วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รร.เมืองพญาแลวิทยา อบรมอาสายุวกาชาด “หลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาด” มุ่งสู่ค่านิยมหลัก 12 ประการ

















           โรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา จังหวัดชัยภูมิ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 88 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์อุปถัมภก สภากาชาดไทย  โดยชมรมอาสายุวกาชาดโรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา ร่วมกับ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทยและเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิ ได้จัดกิจกรรมอบรมอาสายุวกาชาด “หลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาด” มุ่งสู่ค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้แก่อาสายุวกาชาดชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 - 5 จำนวน 182 คน ระหว่างวันที่  9-10 ธันวาคม 2558  ณ หอประชุมอนุสรณ์ 186  ปี  เจ้าพ่อพญาแล โรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในหลักการและ อุดมการณ์ของกาชาด ด้านมนุษยธรรม การดูแลสุขภาพอนามัย บริการอาสาสมัคร แนวทางการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมการมีสัมพันธภาพที่ดี มีศรัทธาต่อกาชาดและเข้าร่วมกิจกรรมกับเหล่ากาชาดได้อย่างต่อเนื่อง  

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องไข้เลือดออก ภัยใกล้ตัวทุกขณะ

ข่าวสารความรู้เพื่อดูแล ป้องกันตนเองเบื้องต้นก่อน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
โดย ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ
1. สถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 2 พ.ย. 2558 จำนวน 102,762 ราย เสียชีวิต 102 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี รองลงมาได้แก่ ระยอง ราชบุรี อุทัยธานี และปราจีนบุรี
2. เน้นย้ำ โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ประชาชนควรสังเกตอาการ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ จุกแน่นท้อง อาเจียน หากไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบกลับไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง
3. โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยเกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 เชื้อไวรัสเดงกี มีแอนติเจนของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อถึง 4 ครั้ง และเป็นที่ยอมรับว่าการติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ในช่วงระยะสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน แต่การติดเชื้อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นในภายหลังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
4. โรคไข้เลือดออกมักจะระบาด ปีเว้นปี หรือ เว้นสองปีโดยมียุงลายบ้านตัวเมียเป็นตัวการนำเชื้อโรคมาสู่คน หลังจากผู้ที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อ 3-14 วัน ก็จะปรากฏอาการป่วยได้
5. ยุงลายพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน พบทั่วไปบริเวณบ้านและชุมชน ทั้งนี้ร้อยละ 30 พบในบ้าน รองมา คือ ชุมชน รวมไปถึงวัดและโรงเรียน ยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด ซึ่งน้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสกัดคนและแพร่โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน
6. อาการโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจจะเบื่ออาหาร อาเจียน เมื่อกินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลดลง หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที
7. โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นเอง แพทย์มักให้กลับบ้าน ผู้ดูแลสามารถให้การดูแลง่ายๆ คือ การเช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ และที่สำคัญต้องสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ
8. ช่วงที่สำคัญและถือว่าอันตรายที่สุด คือ ช่วงที่ไข้ลด ซึ่งมักจะลดลงประมาณวันที่ 3-4 หลังป่วย ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ คือ มีอาการสดชื่น รับประทานอาหารได้ ในเด็กสามารถวิ่งเล่นได้ แสดงว่าหายป่วย แต่ถ้าพบว่าซึมลง อ่อนเพลียมาก รับประทานและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
9. การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอยู่ที่ประชาชน ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย โปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆ บ้าน ภาชนะเก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่และการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
10. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เว็บไซต์สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค 


ที่มา : http://www.thaivbd.org/n/home







อาสายุวกาชาด ร่วมบริจาคโลหิต

นายวิเชียร จันทร์ฝาก ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอกันตัง นำคณะครู นักศึกษา กศน. และอาสายุวกาชาด กศน.อำเภอกันตัง ร่วมบริจาคโลหิต และบริการอาสาสมัครช่วยงานเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ในกิจกรรมบริจาคโลหิต "เลือดข้านี้ไ่ซร้ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารคอซิมบี๊ เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง






วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วารสารยุวกาชาด ฉบับที่ 382

http://www.prd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=117337 ติดตามอ่าน วารสารยุวกาชาด ฉบับที่ 382 ประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2558 ได้แล้วนะคะ  สามารถติ ชม แนะนำ ได้ที่ 02-252 5002-3 กด 1 ค่ะ
ผู้สนใจจะสมัครเป็นสมาชิกวารสารยุวกาชาด ราย 2 เดือน ปีละ 200 บาท จำนวน 6 ฉบับ สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และส่งมาที่ ผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย 1871 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 สังจ่ายไปรษณีย์ และธณานัติ มาที่ ปทฝ.จุฬาลกรณ์ 10332






                                                          

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กศน.จังหวัดสกลนคร สร้างวิทยากรยุวกาชาด ถวายเป็นพระราชกุศล 84 พรรษา สภานายิกาสภากาชาดไทย

                สำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร ร่วมกับสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย จัดอบรมวิทยากรยุวกาชาด รุ่นที่ 1 ( 109/สน 2 ) ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2558 โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 13 ตุลาคม  2558 เวลา 14.00 น.  ณ  โรงแรมสกลแกรนด์ พาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้รับเกียรติจากนางจุรีรัตน์  เทพอาสน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสกลนครเป็นประธานในพิธีเปิด  นายจรูญศักดิ์ พุดน้อย  รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร กล่าวรายงาน
                นายจรูญศักดิ์ พุดน้อย  รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า การจัดอบรมวิทยากรยุวกาชาด ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกา สภากาชาดไทย  และสนับสนุนให้จังหวัดสกลนครร่วมสร้างวิทยากรยุวกาชาดที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีต่อกิจการกาชาด ยุวกาชาด สามารถนำเทคนิควิธีการกระบวนการไปดำเนินกิจกรรมให้กับเยาวชนที่อยู่ในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะเป็นการขยายผลการจัดตั้งชมรมอาสายุวกาชาด การจัดอบรมวิทยากรยุวกาชาดและจัดอบรมอาสายุวกาชาดหลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาดเพิ่มมากขึ้นให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่อไป
                 นายจรูญศักดิ์ พุดน้อย  รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 160 คน จาก กศน.อำเภอ 16 แห่ง จึงได้แบ่งการจัดอบรมเป็น  2  รุ่น รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2558 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร ได้มอบหมายให้ นางพิมพ์ลดา ธัญพรพิภัทร์กุล ผอ.กศน.อำเภอพังโคน เป็นหัวหน้าโครงการจัดฝึกอบรมวิทยากรยุวกาชาดในครั้งนี้
            โดยสำนักงานยุวกาชาด ส่งนางสาวฐานิยา ตันตระกูล วิทยาจารย์ ฝ่ายวิชาการ ไปให้การอบรม ร่วมกับวิทยากรแกนนำยุวกาชาดจากจังหวัดกำแพงเพชร ยโสธร อุทัยธานี มุกดาหาร สมุทรสงคราม พะเยา  ตรัง ร่วมด้วยทีมวิทยากรในพื้นที่จาก กศน.อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอพังโคน สกลนคร ร่วมให้การอบรมแบบอยู่ค่ายพักแรม 4 วัน 3  คืนโดยนางนลิน เรืองบุตร เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมในครั้งนี้



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมช่วยชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน


ชมรมอาสายุวกาชาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมเยาวชนจิตอาสาเรื่อง การช่วยเหลือชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการปฐมพยาบาล ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม  2558  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
            นายธรรมพล ศรีสุวรรณ พรชฎาธร ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า  โครงการอบรมหลักสูตรการช่วยเหลือชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการปฐมพยาบาล มีแนวคิดที่ว่า “ เพราะเวลา....ไม่เคยหวนกลับมาแก้ตัว” ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดอบรมก็เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะการช่วยชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้จริง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายสนับสนุนการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและทันเวลาตามแนวคิดที่ว่า เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชนโดยปรากฏว่ามีผู้ที่พลาดการอบรมในรุ่นนี้จำนวนมาก ที่สมัครเข้ารับการอบรมไม่ทัน จึงมีแนวโน้มว่า มหาวิทยาลัยน่าจะตอบสนองความต้องการของเยาวชนจิตอาสารุ่นต่อไปในเร็ว ๆ นี้
           นายธรรมพล ศรีสุวรรณ พรชฎาธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมการอบรมจำนวน 60 คน ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และได้รับการสนับสนุนจากนางปิยพรรณ กาฬวงศ์ วิทยากรยุวกาชาด สังกัดเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง และนางสุนันทา  ศรอนุสิน ผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด ได้มอบหมายให้ทีมวิทยาจารย์  ฝ่ายส่งเสริมอาสายุวกาชาด นำโดย พิมพ์พิศา ศุภะวัฒนะบดี นางสาวเมธิณี จงศรี นายธัชตะวัน เกษกานดา และนางสาวปารนันทน์  พุ่มพวง ไปให้การอบรมในเรื่องของปฐมพยาบาลและกลุ่มสัมพันธ์ 
          ภายหลังการอบรมในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดหวังว่าจะมีนักศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการปฐมพยาบาล และนำไปช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เมื่อประสบเหตุเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง และเหนือสิ่งอื่นใด จะมีเครือข่ายของอาสายุวกาชาดเพิ่มมากขึ้น เกิดความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมอาสายุวกาชาด และมีแรงบันดาลใจพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นตรงตาม Brand ของสำนักงานยุวกาชาดที่ว่า “อาสายุวกาชาด มีคุณธรรม จิตอาสา พึ่งพาได้

**************