วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องไข้เลือดออก ภัยใกล้ตัวทุกขณะ

ข่าวสารความรู้เพื่อดูแล ป้องกันตนเองเบื้องต้นก่อน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
โดย ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ
1. สถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 2 พ.ย. 2558 จำนวน 102,762 ราย เสียชีวิต 102 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี รองลงมาได้แก่ ระยอง ราชบุรี อุทัยธานี และปราจีนบุรี
2. เน้นย้ำ โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ประชาชนควรสังเกตอาการ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ จุกแน่นท้อง อาเจียน หากไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบกลับไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง
3. โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยเกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 เชื้อไวรัสเดงกี มีแอนติเจนของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อถึง 4 ครั้ง และเป็นที่ยอมรับว่าการติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ในช่วงระยะสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน แต่การติดเชื้อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นในภายหลังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
4. โรคไข้เลือดออกมักจะระบาด ปีเว้นปี หรือ เว้นสองปีโดยมียุงลายบ้านตัวเมียเป็นตัวการนำเชื้อโรคมาสู่คน หลังจากผู้ที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อ 3-14 วัน ก็จะปรากฏอาการป่วยได้
5. ยุงลายพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน พบทั่วไปบริเวณบ้านและชุมชน ทั้งนี้ร้อยละ 30 พบในบ้าน รองมา คือ ชุมชน รวมไปถึงวัดและโรงเรียน ยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด ซึ่งน้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสกัดคนและแพร่โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน
6. อาการโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจจะเบื่ออาหาร อาเจียน เมื่อกินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลดลง หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที
7. โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นเอง แพทย์มักให้กลับบ้าน ผู้ดูแลสามารถให้การดูแลง่ายๆ คือ การเช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ และที่สำคัญต้องสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ
8. ช่วงที่สำคัญและถือว่าอันตรายที่สุด คือ ช่วงที่ไข้ลด ซึ่งมักจะลดลงประมาณวันที่ 3-4 หลังป่วย ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ คือ มีอาการสดชื่น รับประทานอาหารได้ ในเด็กสามารถวิ่งเล่นได้ แสดงว่าหายป่วย แต่ถ้าพบว่าซึมลง อ่อนเพลียมาก รับประทานและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
9. การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอยู่ที่ประชาชน ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย โปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆ บ้าน ภาชนะเก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่และการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
10. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เว็บไซต์สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค 


ที่มา : http://www.thaivbd.org/n/home







อาสายุวกาชาด ร่วมบริจาคโลหิต

นายวิเชียร จันทร์ฝาก ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอกันตัง นำคณะครู นักศึกษา กศน. และอาสายุวกาชาด กศน.อำเภอกันตัง ร่วมบริจาคโลหิต และบริการอาสาสมัครช่วยงานเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ในกิจกรรมบริจาคโลหิต "เลือดข้านี้ไ่ซร้ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารคอซิมบี๊ เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง